เกมที่ “เกือบ” จะได้แนะนำ !?
Superstore 3000 หรือชื่อไทย “ซูเปอร์สโตร์ 3000” เป็นเกมแปลไทยเกมใหม่ของค่าย “สยามบอร์ดเกม” ครับ เกมนี้ออกแบบโดย Rodrigo Rego และได้ Ryan Goldsberry ที่เคยวาดอาร์ตให้กับเกม Burgle Bros. มาสร้างสรรค์งานศิลป์ในตัวเกมให้ทั้งหมด
จริง ๆ เกมนี้ก่อนประกาศแปลไทย เป็นหนึ่งในเกมที่ผมสนใจ และเคยคิดจะหยิบเอามาเขียนแนะนำอยู่หลายครั้งแล้วครับ แต่สุดท้ายก็ดองไว้จนมันประกาศแปลไทย หลังจากนั้นเลยไม่ได้หยิบเอามาแนะนำ
อย่างไรก็ตาม ตัวเกมมีสเน่ห์หลายอย่างที่ผมอยากบอกเล่าครับ ทั้งรูปแบบเกมเพลย์ก็ดี ความสนุกที่ได้รับ และการเป็นเกมที่ผมหยุดปากชมไม่ได้สักที… “เนี่ยแหละเกมที่มีธีม”
“เล่นง่าย” และ “สร้างสรรค์”
Superstore 3000 เป็นเกมแนว Tile Placement – (ต่อภาพ) – ที่ผสมเข้ากับระบบ Pattern Building – (สร้างสิ่งต่าง ๆ ให้ตรงตามแบบแผน) – อย่างสุดโต่ง โดยมีระบบ Open Drafting – (การแย่งทรัพยากรกองกลาง) – เป็นตัวเชื่อมโยงผู้เล่นแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน
ตัวเกมเล่นง่ายมากครับ แต่ละรอบการเล่น มี 2 แอ็คชั่นให้เลือกทำแค่นั้น คือ “สร้าง” และ “หยิบเงิน” ถ้าเลือกสร้างก็หยิบไทล์มาวาง มาต่อให้เป็น “ห้างสรรพสินค้าแห่งอนาคต” แต่ถ้าเลือกหยิบเงิน ก็พลิกไทล์กองกลางเพื่อเปลี่ยนให้มันเป็นเงิน แล้วก็หยิบมา
กลไกหลักมีแค่นี้เลย จบเกมใครสร้างห้างสรรพสินค้าได้ดีกว่า ก็จะชนะไป แต่จุดที่ทำให้ตัวเกมนี้มันสนุก ไม่ใช่ความง่ายครับ แต่มันคือ “ลูกเล่นที่สร้างสรรค์”
สิ่งที่ทำให้มัน “สนุก” ก็คือ… ?
ผมใช้คำว่าลูกเล่นที่สร้างสรรค์ เพราะสิ่งที่ทำให้เราต้องขบคิดระหว่างการเล่นในเกมนี้ มันมีมากถึง 4 อย่างด้วยกัน !!
1. สี:
แผ่นไทล์ที่เราจะต้องนำมาต่อประกอบ เพื่อให้มันกลายเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งอนาคตในแบบที่เราต้องการ จะแบ่งออกเป็น 4 สี 3 ประเภท ประกอบไปด้วย ไทล์พื้นที่ 3 สี, ไทล์ทางเข้าสีแดง, และไทล์พิเศษ
ตัวเกมจะให้เราโฟกัสกับไทล์พื้นที่ 3 สี และไทล์ทางเข้าสีแดงเป็นหลัก โดยไทล์พื้นที่ 3 สี ในแต่ละสีจะยังมีเรื่องของไอคอนที่แตกต่างกันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะสัมพันธ์กับไทล์ทางเข้าสีแดงและลูกค้าเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การทำแต้มในเกมนี้เบื้องต้น จะเป็นการแข่งกันในรูปแบบของ “ขนาดพื้นที่” ใครมีพื้นที่ไทล์สีต่าง ๆ ที่ต่อติดกันมากที่สุด ก็จะได้แต้มคะแนนสูงสุดไป จะแข่งกันทั้งหมด 4 สี ดังนั้นเวลาเราจะเลือกวางไทล์สีต่าง ๆ จึงไม่ใช่แค่วางเท่านั้น แต่จำเป็นต้องโฟกัสว่าจะวางอย่างไรให้มันต่อกันได้ด้วย รวมถึงอาจต้องแอบ ๆ มองคู่แข่งด้วยว่า ตัวคู่แข่งกำลังโฟกัสกับการสร้างพื้นที่สีไหนอยู่ และเราจะสร้างแข่งกับเขาไหวไหม…
นี่คือ “เรื่องแรก” ที่เราต้องใช้การคิดและวางแผนระหว่างการเล่น
2. แผ่นไทล์พิเศษ:
ตัวเกมจะมีแผ่นไทล์พิเศษให้เราได้แย่งกันอยู่ตรงกองกลางด้วย แผ่นไทล์เหล่านี้จะมอบแต้มให้กับเราเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังเป็นเงื่อนไขในการจบเกมให้ได้เร็วที่สุด แต่การที่จะสร้างไทล์เหล่านี้ได้ ก็มี “เงื่อนไข” ของมันอยู่
เงื่อนไขเหล่านี้ ก็จะมาจากการวางไทล์สีต่าง ๆ ของเรา ความสูงของตัวตึก ลูกค้า รวมไปจนถึงการจัดเรียงในรูปแบบต่าง ๆ และนี่คือ “เรื่องที่สอง” ที่เราต้องคิดและวางแผนในเกมนี้ เพราะถ้าใครแย่งไทล์พิเศษมาได้ นั่นหมายถึงแต้มจำนวนมาก ที่จะได้ในตอนจบเกม
ไทล์พิเศษยังมีพวกไทล์ที่ทำให้เราขยายตัวอาคารให้กว้างขึ้นได้อยู่ด้วยไทล์ส่วนนี้จะไม่ใช่ไทล์สำหรับใช้แย่งกันแต่ถ้าใครหยิบเอามาใช้ได้ก่อนก็อาจจะชิงความได้เปรียบที่มากกว่า
3. เงิน:
เงินเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญในเกมนี้ เพราะนอกจากมันจะช่วยให้สามารถชิงไทล์ที่เราอยากได้มาก่อนคู่แข่งแล้ว มันยังมาพร้อมลูกเล่น ที่เราจะต้องใช้ความคิดเป็น “เรื่องที่สาม”
โดยเมื่อเราคิดจะเล่นแอ็คชั่นหยิบเงิน แผ่นไทล์สีแผ่นล่างสุดจะถูกเปลี่ยนเป็นเงิน ซึ่งแผ่นไทล์นั้นจะกลายเป็นเงินไปตลอดทั้งเกม ถือเป็นการตัดไทล์ที่ผู้เล่นคนอื่นต้องการรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึงจำนวนเงินที่เราจะได้รับ ยังขึ้นอยู่กับสีไทล์ที่เราหยิบไปด้วย ถ้าในตอนนั้น ตรงกองกลางมีไทล์สีเดียวกันกับที่เราหยิบมาได้ เราก็จะได้รับเงินมากขึ้นตามไปด้วย (ต้องแถวเดียวกัน)
ดังนั้นการคิดจะหยิบเงินจึงอาจต้องดูจังหวะด้วยว่าณตอนนั้นมันคุ้มไหมที่เราจะหยิบมันมาเป็นเงินแทนที่จะเอามันมาต่อลงในตัวห้างของเรา
4. ลูกค้า:
สิ่งที่ทำให้เกมนี้ “ลึก” มาก ๆ และจำเป็นต้องใช้ความคิดและการวางแผนขั้นสุด ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ลูกค้า” เนี่ยแหละ
ในเกม ลูกค้าจะมีลักษณะเป็นโทเคนอคริลิค เมื่อเราหยิบ “ไทล์ทางเข้าสีแดง” มาวาง เราจะต้องหยิบโทเคนลูกค้ามาตั้งบนไทล์เหล่านั้นด้วย โดยพื้นที่บนไทล์ทางเข้า จะมี “ไอคอน” พิมม์แปะเอาไว้ และนั่นหมายถึงเป้าหมายที่ลูกค้าอยากจะทำ
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้า พวกไทล์ทั้ง 3 สี แต่ละสีจะมีไอคอนที่แตกต่างกันแปะไว้อยู่ เราต้องจับคู่ไอคอนบนไทล์สีต่าง ๆ ที่ลูกค้ายืนอยู่บนไทล์สีแดงเข้าด้วยกัน ถ้าจับคู่ได้ ก็ให้เอาลูกค้าไปวางนอนที่ไทล์สีดังกล่าว
จำนวนลูกค้าที่เราวางนอนทั้งหมด คือจำนวนที่เราต้องเอามานับแข่งกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งถ้าใครมีจำนวนลูกค้ามากกว่า ก็จะได้รับแต้มสูงสุดไป
อย่างไรก็ตาม ความมันส์ของเกมนี้มันอยู่ที่ว่า ตัวลูกค้านั้นจะเดินได้แค่ 3 ช่อง ในแนวตั้งและแนวนอน หมายความว่า ไทล์ที่ลูกค้าจะเอาไปวางนอนได้นั้น จะต้องไม่ห่างจากไทล์ทางเข้าที่ลูกค้ายืนอยู่ 3 ช่องนั่นเอง
และนี่คือ “เรื่องที่สี่” ที่เราต้องคิดทุกครั้งเมื่อจะหยิบเอาไทล์มาวางในห้างสรรพสินค้าของตัวเราเอง
เนี่ยแหละเกมที่มี “ธีม”
สิ่งที่ทำให้ผมประทับใน Superstore 3000 มากที่สุด ก็คือเรื่องของ “ธีม” เนี่ยแหละ แต่อธิบายก่อนว่า คำว่าธีมในที่นี้ ไม่ใช่ว่าตัวเกมทำให้เรารู้สึกว่ากำลังสร้างห้างสรรพสินค้าอยู่นะ แต่ธีมที่ผมหมายถึงนี้คือ “เรื่องราว” และ “รูปลักษณ์” ครับ
เมื่อจบเกม แล้วคุณมองไปยังห้างที่คุณสร้างขึ้นมา คุณจะเห็น “เรื่องราว” มากมาย อยู่ในนั้น โทเคนลูกค้าอคริลิคกับตำแหน่งที่พวกมันนอนอยู่ จะทำให้เราเกิดจินตนาการมากมายตามมา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่ตัวเกมทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
ลูกค้าเหล่านี้นอกจากจะทำหน้าที่ในฐานะสิ่งที่ทำให้ตัวเกมมีความลึกขึ้นแล้ว รูปลักษณ์ที่น่ารักไม่เหมือนกันของพวกมัน ก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้ตัวเกมนั้นน่ามอง และเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัยครับ
ส่วนในแง่ของ “รูปลักษณ์” นั้น ถือเป็นหนึ่งในจุดที่น่าประทับใจมาก ๆ ของเกมนี้ เพราะในท้ายที่สุดตอนจบเกม ไม่ว่าเราจะชนะหรือแพ้ ห้างสรรพสินค้าที่เราสร้าง ก็จะปรากฎอยู่ตรงหน้าเราเสมอ เราจะเห็นมันชัดเจน สูงแค่ไหน กว้างเท่าไร เน้นส่วนร้านของกิน หรือชอบร้านทั่ว ๆ ไป มีลูกค้าใช้บริการเยอะไหม มีแหล่งท่องเที่ยวอะไรเจ๋ง ๆ บ้าง
รูปลักษณ์ของห้างที่เราสร้างในตอนจบเกม มันเห็นเด่นชัดครับ ที่สำคัญสิ่งที่ผมประทับใจยิ่งกว่า คือการ “นับคะแนน” นั่นคือขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างห้างให้เสร็จสมบูรณ์ เพราะคะแนนของเกมนี้ เมื่อเราชนะในเรื่องของจำนวนลูกค้า หรือไทล์สีต่าง ๆ เราจะได้มาเป็น “โทเคนลูกโป่ง”
โทเคนลูกโป่งจะเอามาวางไว้ชั้นบนสุดของห้างแสดงถึงจุดเด่นของห้างๆนั้นและเป็นเครื่องประดับที่ทำให้ห้างของเรานั้นเสร็จสมบูรณ์
เกมที่ลึกกว่า “คาสคาเดีย“
Superstore 3000 มีรูปแบบการเล่นหลัก ๆ ไม่เหมือนกับ ”คาสคาเดีย” นะครับ แต่ในแง่ของความรู้สึกระหว่างเล่นและตอนจบเกมนั้นคล้าย ๆ กันครับ
สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะพูดได้ คือถ้าคุณเล่นคาสคาเดียแล้ว รู้สึกอยากหาเกมอารมณ์คล้าย ๆ กัน แต่ลึกกว่า Superstore 3000 คือหนึ่งในตัวเลือกที่ผมแนะนำเลยครับ มันมีเรื่องต้องคิดมากกว่า แต่ความซับซ้อนเมื่อเทียบกับคาสคาเดียแล้ว ถือว่าเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น
มันจึงเป็นเกมที่ดี ที่ถ้าคุณอยากหาเกมที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับคาสคาเดีย หรืออยากได้เกมที่จะเอาไปเล่นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะกลับครอบครัว กลุ่มเพื่อน ผู้ใหญ่ คนที่พึ่งเคยสัมผัสบอร์ดเกมเป็นครั้งแรก จะเล่นชิล ๆ หรือเล่นแบบซีเรียส เกมนี้สามารถทำได้ทั้งหมดครับ
“ข้อเสีย” เดียวของเกมนี้
ข้อเสียเดียวของ Superstore 3000 สำหรับผม คือเขาไม่ได้ให้ถุงจั่วไทล์มาด้วยน่ะครับ จริง ๆ จะบอกว่าเป็นข้อเสียก็ไม่เชิงนัก เพราะเราสามารถสร้างกองไทล์สำหรับจั่วขึ้นมาได้ แต่ถ้าในแง่สุ่มจั่วไทล์แล้ว การมีถุงสำหรับใส่ไทล์ไว้จั่ว ถือเป็นอะไรที่ดีมากครับ
เนื่องจากผมเล่นบอร์ดเกมประจำ ผมเลยจะมีถุงผ้าพวกนี้เตรียมไว้อยู่แล้ว อันนี้สำหรับใครที่สนใจเกมนี้ ก็แนะนำไปหาถุงผ้าเล็ก ๆ สำหรับเอาไว้ใส่ไทล์เพื่อจั่วเอาไว้ก็ดีนะครับ ทั้งตอนเก็บหรือเซ็ตเกมสามารถทำได้เลย สะดวกมาก ๆ
อีกข้อหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่ข้อเสียครับ แต่เป็นเอกลักษณ์ของเกมแนวนี้ ที่เราอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นน้อยหน่อย อย่างมากก็แค่แย่งไทล์ที่อยู่ตรงกองกลางกัน หรือไม่ก็แอบส่องห้างที่ผู้เล่นอื่นทำบ้างแค่นั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เกมเน้นเฮฮาครับ แต่จะเน้นการขบคิดหาวิธีทำให้เราได้แต้มมากที่สุด
ดังนั้นถ้าใครหาเกมที่เฮฮามาก ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นคนอื่นมาก ๆ เกมนี้ไม่เหมาะครับ
สำหรับผู้ที่สนใจ Superstore 3000 ตัวเกมมีเวอร์ชัน “แปลไทย” ขายแล้วนะครับ ราคากล่องละ 1,760 บาท (มีโปรโมชั่นลดราคาเรื่อย ๆ) สามารถสั่งซื้อจากร้านบอร์ดเกมทั่วไป หรือจากค่ายที่แปลตัวเกมอย่าง “สยามบอร์ดเกม” ได้โดยตรงครับ หรือจะคลิกจากลิงก์นี้ก็ได้ (affiliate) >> https://s.shopee.co.th/AA02hD2oME